หญิงสาวคนหนึ่ง มีความสุขที่ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ...
แฟชั่น การออกแบบเสื้อผ้า
เธอเรียนปี 3 ที่ Parson School of Design
แต่ละวัน เธอก็ติดตามความเคลื่อนไหวของแวดวงแฟชั่น วัตถุดิบใหม่ๆที่น่าสนใจ สีที่จะเป็นที่นิยม คอลเล็กชันใหม่ๆของ Prada ฯลฯ และคิดออกแบบวางแผนสำหรับ Collection จบการศึกษาของเธอเอง กลับบ้านก็เปิดทีวี ติดตามข่าวสารการเมืองเหมือนคนอื่นๆ
วันหนึ่ง เธอได้เห็นข่าวที่สร้างความสะเทือนใจมาก เธอได้เห็นความทุกข์ยากของชาวซีเรียอพยพหนีสงคราม บ้านแตกสาแหรกขาด ญาติพี่น้องพลัดพราก ล้มหายตายจากกัน แร้นแค้นทั้งที่พัก อดอยากทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค
หญิงสาวเริ่มตั้งคำถามให้ตนเอง สิ่งที่เธอเรียน สิ่งที่เธอชอบ...แฟชั่น มันมีประโยชน์จริงหรือ? มันฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยอย่างที่คนถากถาง...หรือเปล่า? มันมีความสำคัญต่อชีวิตแค่ไหน?
เมื่อมีคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นในหัว เธอไม่สามารถสลัดภาพความทุกข์โศกของชาวซีเรียอพยพออกไปได้ เธอเกือบจะทิ้งสิ่งที่เรียนมา 3 ปีอย่างเป็นสุข แล้วเปลี่ยนสาขาวิชาที่น่าจะเป็นประโยชน์กว่า ว้าวุ่นกับความคิดนี้อยู่หลายวัน จนเกิดจังหวะ 'คิดได้/คิดออก'
เธอมั่นใจว่า ทุกๆอาชีพสามารถปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับสังคมได้ หากมีมุมมองที่ลุ่มลึกพอ และมีความตั้งใจมุ่งมั่น
ผู้หญิงตัวเล็กๆก็คงเปลี่ยนแปลงการเมืองโลกไม่ได้ แต่เธอน่าจะใช้ความสามารถที่มี ทำให้เกิดประโยชน์ต่อชาวซีเรียอพยพได้
เธอเริ่มวางแผน Graduation Collection โดยมีชาวซีเรียอพยพเป็นหัวข้อหลัก ความสามารถ+ความคิดสร้างสรรค์+ความมุ่งมั่น ทำให้เธอออกแบบ Collection นี้ ชาวซีเรียอพยพ เมื่อทิ้งบ้านเกิดมา สภาพอากาศต่างๆ หนาวจัดร้อนจัด ที่พักหลับนอนก็ขาดแคลน เธอจึงใช้อุปสรรคเหล่านี้ เป็น springboard เพื่อออกแบบ..
sleeping bags
backpacks
life vests
child carriers
tents
งานออกแบบทั้งหมด สามารถพับ/ผูก/ตลบ/ม้วน/มัด ให้กลายเป็นเสื้อ/เสื้อคลุม กันลมกันแดดกันหนาวได้ ( เธอเน้นว่า ไม่ได้ออกแบบเสื้อผ้า ที่เปลี่ยนเป็นสิ่งของเครื่องใช้ แต่เริ่มคิดจากสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อผู้อพยพ แล้วสามารถเปลี่ยนของเหล่านั้นเป็นเครื่องนุ่งห่มที่มีประโยชน์/ติดตัวไปได้เลย ไม่ต้องขนแบกเป็นภาระเพิ่มเติม ) ทั้ง collection ออกแบบเป็น unisex ชายหญิงใช้ประโยชน์ได้ Collection นี้ ทำให้เธอได้รับรางวัล Designer of the Year 2016 และมีนักลงทุนให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนผลิตออกสู่ตลาดจริงๆ
เธอชื่อ "Angela Luna"
เธอสุขใจขึ้นมาก เมื่อตระหนักว่า แฟชั่น/การออกแบบเสื้อผ้า มิใช่เรื่องฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย แต่มีประโยชน์ได้จริงๆ แม้แฟชั้นไม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องผู้อพยพชาวซีเรีย แต่อย่างน้อย ก็ช่วยบรรเทาทุกข์ให้พวกเขาได้บ้าง
credit บทความ : Dhanesha Kittikanokkul